สถาปัตยกรรมโรมัน

05 ธ.ค. สถาปัตยกรรมโรมัน

สถาปัตยกรรมโรมัน มีลักษณะเช่นเดียวกับกรีก เนื่องจากได้รับอิทธิพลสืบต่อมาโดยปรับปรุงบางอย่างของสถาปัตยกรรมกรีกเพื่อให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีระบบความคิดและอุปนิสัยของชาวโรมัน จึงทำให้ผลงานออกมาต่างกัน โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมโรมันส่วนใหญ่เน้นความใหญ่โตมโหฬาร แข็งแรง โออ่า และหรูหรา ซึ่งชาวโรมันเองก็ไม่ได้จำกัดการออกแบบอยู่เพียงแค่เฉพาะโครงสร้างระบบเสากับคานเท่านั้นแต่ได้มีการพัฒนาจนเกิดโครงสร้างแบบวงโค้งขึ้น (ที่เรียกว่า “อาร์ช”) เพดานทรงโค้ง
(ที่เรียกว่า “โวลต์”) และหลังคาทรงกลม (ที่เรียกว่า “โดม”) ถ้าขยายโครงสร้างวงโค้งวงกลมแบบโรมันหรือที่เรียกว่า “โรมันอาร์ช” ให้กว้างออกไปในทางลึก ก็จะมีรูปแบบเพดานโค้งเหมือนอุโมงค์ หรือ “ทันเนลโวลต์” หลังจากทำเพดานทรงโค้งแบบนี้ได้แล้ว ต่อมาชาวโรมันก็สร้างเพดานโค้งกากบาท หรือที่เรียกว่า “ครอสส์ โวลต์”

ดังนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมโรมันจึงเป็นการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมกรีกแบบมูลฐานทั้ง 3 แบบ คือ ดอริค ไอโอนิค และโครินเธียน มาดัดแปลงปรับปรุงให้มีความสวยงามมากขึ้น และเรียกชื่อว่า คอมโพสิท (Composite) โดยนำลายม้วนแบบไอโอนิคมาผสมเข้ากับหัวเสาแบบโครินเธียน นอกจากนี้ยังได้พัฒนามาจนเกิดรูปแบบ “สถาปัตย์ตุสคัน” (Tuscan) โดยการใส่ฐานเสาเพิ่มเติมเข้าไปทำให้ดูเด่นมากขึ้น
ลำเสาเกลี้ยงเกลาไม่มีร่องลาย ใช้บัวเสาที่ได้รับอิทธิพลมาจากหัวเสาแบบดอริค สิ่งที่แตกต่างกันอีกอย่างหนึ่งระหว่างเสาแบบกรีกกับเสาแบบโรมัน คือเสาแบบกรีกจะเป็นท่อนๆ เหมือนนำมาวางซ้อนต่อกันขึ้นไป  แต่เสาแบบโรมันจะเป็นเสาหินท่อนเดียวตลอด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำความเข้าวัฒนธรรมโรมัน คือชาวโรมันไม่ได้จ่ายความความมั่งคั่งร่ำรวยไปกับการสร้างวิหารเท่านั้น แต่ยังจ่ายไปกับการสร้างอนุสรณ์สถาน การสร้างวัง และการสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่สาธารณชนอีกด้วย เช่น โรงอาบน้ำอุ่น
โรงมหรสพไร้หลังคา และอื่นๆอีกมากมาย